ไข 8 สาเหตุ "ผมร่วง"
รู้ทันก่อนลุกลามเป็น "หัวล้าน"
“ผมร่วง”
ปัญหากวนใจของทั้งผู้ชายและผู้หญิง
และยิ่งหากไม่รีบรักษาอาจกลายเป็น “ศีรษะล้าน” ได้
โรคผมร่วง (Alopecia) นับเป็นปัญหากวนใจของทั้งคุณผู้ชายและคุณผู้หญิง เพราะนอกจากจะทำให้เสียบุคลิกภาพแล้ว ยังส่งผลเสียต่อจิตใจของผู้ที่เป็น ทำให้เกิดความเครียด และเป็นกังวลต่ออาการของโรคนี้ด้วย
เราลองมาดูกันว่า สาเหตุของผมร่วงมีกี่สาเหตุ และแต่ละสาเหตุมีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง รวมทั้งวิธีสังเกตร่างกายเบื้องต้นว่า คุณเป็นโรคผมร่วงหรือไม่
ก่อนอื่นเลย เส้นผมของคนมีประมาณ 80,000-1,200,000 เส้น โดยจะงอกยาวขึ้นวันละประมาณ 0.35 มิลลิเมตร และมีอายุนาน 2-6 ปี ซึ่งโดยปกติคนเราจะมีผมร่วงเป็นประจำทุกวัน แต่ไม่เกินวันละ 30-50 เส้น
สาเหตุของ “ผมร่วง” ผิดปกติ
สาเหตุของ “ผมร่วง” ผิดปกติ
1. ผมร่วงจากกรรมพันธุ์ (Androgenetic alopecia)
พบได้ในเพศหญิงและเพศชาย แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะพบในเพศชาย ซึ่งรากผมจะมีความไวต่อฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย ทำให้เส้นผมมีอายุสั้นกว่าปกติ และเส้นผมที่เกิดใหม่มีขนาดเล็กและบางลง เห็นเป็นเส้นขนอ่อนๆ ทำให้ผมบริเวณนั้นดูบางลง ส่วนมากจะเกิดขึ้นบริเวณ “กลางศีรษะ” และ “หน้าผาก”
ทั้งนี้ เพศชาย สามารถเริ่มสังเกตตัวเองได้เมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป ขณะที่ เพศหญิง มักจะเริ่มแสดงอาการหลังวัยหมดประจำเดือน
2. ผมร่วงจากผมหยุดเจริญชั่วคราว
ในแต่ละวันจะมีเส้นผมประมาณ 10%-15% ที่หยุดเจริญและหลุดร่วงไป แต่ในบางภาวะเส้นผมที่กำลังเจริญอาจหยุดการเจริญในทันที ทำให้เส้นผมเสื่อมและหลุดร่วงเพิ่มจำนวนมากกว่าปกติ เช่น ผู้หญิงหลังจากคลอดบุตร, ทารกแรกเกิดหลังจากที่ป่วยเป็นไข้สูง, หลังจากได้รับการผ่าตัดใหญ่, การเจ็บป่วยเรื้อรัง, การเสียเลือด, การบริจาคเลือด, การใช้ยาบางชนิด และภาวะเครียดทางจิตใจ ผมร่วงชนิดนี้มักจะเกิดขึ้นใน 1-3 เดือน หลังจากนั้นก็จะหยุดร่วงและงอกขึ้นใหม่ตามปกติ
3. ผมร่วงจากการถอนผม (Trichotillomania)
พบได้บ่อยในเด็กที่มีปัญหา “กดดันทางจิตใจ” ด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาการเรียน เด็กบางคนอาจถอนผมเล่นจนเป็นนิสัย โดยจะมีอาการถอนผมตัวเองจนผมแหว่ง หนังศีรษะบริเวณที่ผมร่วงจะไม่มีผื่นคัน หรือเป็นขุย และจะพบเส้นผมที่เป็นตอสั้นๆ อยู่มาก เนื่องจากผู้ป่วยถอนออกไม่ถนัด
4. ผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata)
เป็นอาการที่พบบ่อย และพบได้ในทุกช่วงอายุ มักจะมีอาการผมร่วงเฉพาะที่ โดยมีลักษณะบริเวณที่ผมร่วงเป็นวงกลม หรือวงรี มีขอบเขตชัดเจน ตรงกลางไม่มีเส้นผม หนังศีรษะบริเวณนั้น ไม่แดง ไม่เจ็บ ไม่คัน ไม่เป็นสะเก็ด หรือเป็นขุย บางคนอาจพบเส้นผมสีขาวขึ้นในบริเวณนั้นด้วย โดยบางคนอาจจะมีผมร่วงเพียง 1-2 หย่อม หรืออาจจะมากกว่า 10 หย่อมก็ได้ หากเป็นมากอาจลุกลามทั่วศีรษะ นอกจากนี้ บางคนอาจมีขนตา ขนคิ้ว หนวด เครา ขนตามร่างกายร่วงด้วยเช่นกัน
อาการผมร่วงเป็นหย่อม เชื่อว่าเกิดจากการที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อรากผมตัวเอง ซึ่งสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดได้อย่างไร โรคนี้อาจพบร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ทางจมูก หรือโรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคไทรอยด์ และโรคด่างขาว ซึ่งโรคนี้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้
อย่างไรก็ตาม โรคนี้รักษาได้ แต่ส่วนใหญ่มักไม่หายขาด ผู้ที่มีผมร่วงน้อยมักตอบสนองต่อการรักษาที่ดีกว่าคนที่ผมร่วงเป็นบริเวณกว้าง ขณะที่ผู้ป่วยบางคนอาจหายเองได้ตามธรรมชาติ แต่อาจกินเวลาเป็นปี บางคนเมื่อรักษาหายแล้วอาจกำเริบได้ใหม่ หรือเป็นๆ หายๆ บ่อยครั้ง
5. ผมร่วงจากเชื้อรา (Tinea capitis)
โรคเชื้อราที่ศีรษะ (กลากที่ศีรษะ) อาจพบได้บ่อยในเด็ก เกิดจากการติดเชื้อรา โรคนี้จะทำให้ผมร่วงเป็นหย่อมๆ เป็นผื่นแดง คัน และเป็นขุยหรือสะเก็ด นอกจากนี้ มักจะพบร่องรอยของโรคเชื้อรา (กลาก) ที่มื้อ เท้า ลำตัว หรือในบริเวณร่วมผ้าร่วมด้วย
6. ผมร่วงจากการทำผม
การทำผมด้วยการ “ม้วนผม” หรือ “ย้อมสีผม” รวมทั้ง ตัดผม เป่าผม หรือวิธีอื่นๆ อาจทำให้มีอาการผมร่วงได้ จากการที่ “หนังศีรษะอักเสบ” หรือเส้นผมเปราะหัก
7. ผมร่วงจากยาและการฉายรังสี
ยาที่อาจทำให้เกิดอาการผมร่วงมีอยู่หลายชนิด เช่น ยารักษามะเร็ง, การฉายรังสีในการรักษามะเร็ง, ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) ยารักษาคอพอกเป็นพิษ, ยาคุมกำเนิด และยาใช้ป้องกันโรคเกาต์ด้วย
8. ผมร่วงจากโรคอื่นๆ
เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรค SLE หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง ก็อาจะมีอาการผมร่วง ผมบาง ร่วมกับอาการไข้เรื้อรัง ปวดตามข้อ มีผื่นปีกผีเสื้อขึ้นที่หน้า โรคเรื้อรังบางอย่างก็ทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน เช่น ไทรอยด์, ซิฟิลิส, โรคตับ, โรคไต
สังเกตอาการผมร่วง
01. ผมร่วงที่ว่านี้เป็นเพราะผมเปราะและขาดง่าย หรือจำนวนผมที่ร่วงมีมาก หรือผมบางลง หรือผมไม่ขึ้นตั้งแต่เด็ก
02. ผมร่วงมานานแค่ไหน หากนานหลายปีแต่เมื่อมองที่ศีรษะพบว่า ผมไม่ได้บางลงไป แสดงว่าผมอาจจะไม่ได้ร่วงจริง
03. ผมร่วงวันละกี่เส้น หากร่วงเกิน 100 เส้นต่อวัน แสดงว่ามีความผิดปกติ
04. มีร่องรอยผมร่วงเป็นหย่อมๆ หรือไม่ หากมีแสดงว่าผมร่วงจริง ไม่ว่าผมจะร่วงวันละกี่เส้นก็ตาม
05. ขนที่อื่นร่วงด้วยหรือไม่ เช่น ขนคิ้ว ขนตา ขนผิวหนัง หนวด เครา
06. มีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น มีไข้ ปวดข้อ ผื่นขึ้นตามตัว
07. เคยมีประวัติเจ็บป่วย หรือคลอดบุตรในช่วงประมาณ 3 เดือนก่อนหรือไม่
08. เคยมีประวัติเสียเลือด เช่น แท้ง, บริจาคเลือด, ผ่าตัดในช่วงประมาณ 3 เดือนก่อนหรือไม่
09. มีโรคประจำตัว หรือรับประทานยาอะไรเป็นประจำหรือไม่
10. ประวัติครอบครัวมีใครเป็นโรคผมร่วงหรือไม่
ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีปัญหาผมร่วง
@- สระผม ทำความสะอาดเส้นผม และหนังศีรษะอย่างสม่ำเสมอ
@- ไม่ควรเกา หรือขยี้หนังศีรษะแรงจนเกินไป
@- หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกับหนังศีรษะ เช่น ย้อม ทำสี ตัด อย่างพร่ำเพรื่อ
@- หลีกเลี่ยงการดึงหรือถอนผมเล่น ถ้าหยุดถอนผมก็จะขึ้นได้เอง ในรายที่มีปัญหาทางจิตใจ ควรปรึกษาแพทย์
@- อาการผมร่วงในผู้ป่วยบางรายอาจหายเองได้ ไม่จำเป็นต้องรักษาทุกราย
@- ภาวะเครียดอาจจะกระตุ้นให้ผมร่วงมากขึ้น
@- หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาสาเหตุของโรค และให้การรักษาที่ถูกต้อง